Our Articles

We will never stop becoming intelligence

มารู้จัก การทำ CPR วิธีปฐมพยาบาลที่เพิ่มโอกาสรอดชีวิต
CPR หรือ Cardiopulmonary resuscitation เป็นการช่วยเหลือผู้ป่วยที่กำลังจะหยุดหายใจ หรือหัวใจกำลังจะหยุดเต้น ให้กลับมาหายใจ
หรือลมหายใจไหลเวียนได้ตามปกติ
ความสำคัญของการทำ CPR ตอนนี้อยู่ที่การปั๊มหัวใจ ที่ต้องทำให้ถูกต้อง และทันเวลา เพราะหากสมองขาดออกซิเจนไปเกิน 4 นาที สมองอาจเสียหายได้

เมื่อไรถึงควรทำ CPR?
เราสามารถเข้าไปทำ CPR ให้กับผู้ป่วยที่หมดสติ ลมหายใจอ่อนหรือหยุดหายใจ หัวใจใกล้หยุดเต้น หรือหยุดเต้นไปแล้ว เช่น จมน้ำ หัวใจวาย สำลักควันไฟจากที่ที่เกิดไฟไหม้ อุบัติเหตุต่างๆ


วิธีทำ CPR ที่ถูกต้อง

1. ตรวจดูความปลอดภัยบริเวณรอบๆ ตัวผู้ป่วย เช่น มีของแหลมคม มีกระแสไฟฟ้า มีน้ำมัน มีไฟ หรือสิ่งอันตรายอื่นๆ หรือไม่ ถ้าดูไม่ปลอดภัย อย่าเพิ่งเข้าไป เรียกกู้ภัยมาช่วยเหลือดีกว่า

2. หากสถานที่รอบๆ ผู้ป่วยปลอดภัยดี ให้เข้าไปหาผู้ป่วยทำการยืนยันว่าผู้ป่วยหมดสติจริง โดยการตีที่ไหล่แล้วเรียกด้วยเสียงดัง 4-5 ครั้ง หากผู้ป่วยยังรู้สึกตัวอยู่ หายใจเองได้ ให้จับนอนตะแคง รอการช่วยเหลือ โทร 1669 ไม่ควรทำ CPR ขณะที่ผู้ป่วยยังมีสติ

3. หากไม่ได้สติ ไม่ลืมตาจริงๆ และหยุดหายใจ ให้รีบโทรหา 1669 เช่นกัน แจ้งทีมงานว่าผู้ป่วยไม่ได้สติ หยุดหายใจ ให้นำเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ หรือ AED มาด้วย

4. เริ่มทำการกดหน้าอก โดยจับผู้ป่วยนอนหงาย นั่งคุกเข่าข้างผู้ป่วย วางสันมือข้างหนึ่งตรงครึ่งล่างกระดูกหน้าอก (ตำแหน่งตรงกลางระหว่างหน้าอก ระดับเดียวกับหัวนมพอดี) และวางมืออีกข้างทับประสานกันไว้ เริ่มการกดหน้าอกด้วยความลึกอย่างน้อย 5 เซนติเมตร ในอัตราเร็ว 100-120 ครั้งต่อนาที สามารถปั๊มหัวใจตามจังหวะเพลง “สุขกันเถอะเรา” ของสุนทราภรณ์, “Staying Alive” ของ Bee Gees หรือ “Imperial March” เพลงธีมของ Darth Vader ในภาพยนตร์เรื่อง Star Wars ได้

5. ควรทำ CPR ต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าทีมแพทย์ หรือหน่วยกู้ภัยจะมา หากคุณไม่เคยเข้ารับการฝึกทำ CPR มาก่อน ให้กดหน้าอกเพียงอย่างเดียวไปเรื่อยๆ หากคุณเคยทำ CPR แล้ว อาจกดหน้าอกสลับกับการเป่าปากช่วยหายใจได้ โดยกดหน้าอก 30 ครั้ง สลับมาเป่าปากช่วยหายใจ 2 ครั้ง

6. ในกรณีที่มีคนอยู่ด้วยหลายคน สามารถสลับให้คนอื่นมาช่วยปั๊มหัวใจแทนได้

เมื่อไรควรหยุดทำ CPR?
ควรทำ CPR ไปเรื่อยๆ จนกว่าทีมกู้ภัย หรือหน่วยแพทย์เคลื่อนที่จะมา แล้วเข้าช่วยเหลือด้วยเครื่อง AED อีกครั้ง ก่อนนำส่งโรงพยาบาล
อย่างไรก็ตาม ระหว่างการทำ CPR เราควรเรียกคนมาช่วย รีบโทร. 1669 / 1745 เพื่อติดต่อเจ้าหน้าที่เร็วที่สุด หากสามารถนำส่งโรงพยาบาลด้วยตัวเองได้ ก็สามารถทำ CPR ระหว่างนำส่งโรงพยาบาลได้เช่นกัน

ที่มา: โรงพยาบาลบางปะกอก 3

Location

เลขที่ 455/81
ถนนพัฒนาการ
แขวงประเวศ เขตประเวศ กรุงเทพฯ 10250

View on Google Map

Contact

ฝ่ายขาย : 094 943 4444 , 065 626 4629
ฝ่ายบุคคล : 097 251 6347, 091 769 6189
ศูนย์ฝึกอบรมฯ : 02 005 1185, 02 130 6481-2

Email : [email protected]

Line QR Code